เมื่อความต้องการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ในยุคที่การค้าขายข้ามพรมแดนเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยก็ประสบปัญหาความแออัดในการขนส่งสินค้า ทำให้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านโลจิสติกส์พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
.
โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น จึงได้รับการศึกษาและพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งสินค้า รองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV (ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม) ไปพร้อม ๆ กัน
ท่าเรือบก (Dry Port) ทำหน้าที่เสมือนท่าเรือบริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศในการรองรับการขนส่งสินค้า สามารถดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว เชื่อมโยงระบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป โดยเน้นการขนส่งทางรางเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามความตั้งใจของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่จะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนน เป็นทางราง ตามนโยบายของรัฐบาล
จากการศึกษา พบว่าพื้นที่ประมาณ 700 กว่าไร่ บริเวณสถานีรถไฟโนนพยอม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือบกได้ เพราะมีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ สามารถครอบคลุมการขนส่งบริเวณภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ มีแผนพัฒนาผังเมืองไปสู่ภูมิภาคอาเซียน และมีสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรสนับสนุน สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมระหว่างทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Transport) ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ทั้งในรูปแบบของไฟฟ้า ประปา และถนน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้นตามไปด้วย
ขณะนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จ.ขอนแก่น ผ่านการศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และการเงิน รวมทั้งรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับการท่าเรือฯ เพื่อให้เกิดขึ้นในเชิงพาณิชย์ โดยจะเสนอคณะกรรมการการท่าเรือฯ พิจารณา ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาตามลำดับต่อไป
หากมีข้อสงสัย
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านข้อความ หรือพูดคุยกับเรา
ผ่าน Facebook Messenger